” พา-สาน “ คือชื่อของสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์รูปทรงแปลกตา ที่มีความโดดเด่น สวยงาม จากการออกแบบที่มีความอ่อนช้อย แต่ทันสมัยและแฝงไปด้วยความหมาย ถูกเรียกว่าเป็น อาคารสัญลักษณ์ของต้นแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าจะยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ในอีกไม่นานที่นี่จะเริ่มเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแลนด์มาร์คสำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์
เราจะพาไปรู้จักถึงรายละเอียด เรื่องราวความเป็นมา ตลอดจนเกร็ดที่น่าสนใจของที่นี่กัน..
” พาสาน ” ถูกสร้างขึ้นบนที่ดินขนาดประมาณ 3 ไร่ เศษ ณ.บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะยม ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ที่ซึ่งแม่น้ำสองสี ปิง-วัง และ ยม-น่าน ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยา สายเลือดใหญ่ของแผ่นดินไทยมาช้านาน จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น อาคารสัญลักษณ์ของต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ชาวปากน้ำโพต่างภาคภูมิใจ
ความเป็นมา: อาคารหลังนี้เกิดขึ้นจากแนวความคิด และการร่วมแรงร่วมใจกันของเทศบาลเมืองนครสรรค์ ชมรมรักษ์เจ้าพระยา และประชาชนชาวนครสวรรค์ จุดประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตริมน้ำ รวมถึงการสร้างเสริมอาชีพและเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการศึกษา-ออกเเบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา จนได้เริ่มต้นก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2559
พื้นที่บริเวณที่ใช้ก่อสร้างได้รับอนุมัติจากธนารักษ์นครสวรรค์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งได้รับบริจาคจากราษฏรในพื้นที่ และได้ซื้อเพิ่มจากเงินบริจาคของประชาชนคนนครสวรรค์อีกประมาณ 9 ล้านบาท
“พาสาน” เป็นผลงานที่ชนะเลิศการออกแบบของ ไกรภพ โตทับเที่ยง จาก บริษัท ฟาร์ส สตูดิโอ จำกัด โดยใช้เเนวคิด-รูปฟอร์มการออกเเบบมาจากการรวมตัวกันของเเม่น้ำ จากสี่สายที่รวมกันเป็นสองสาย แล้วไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด
ถ้าสังเกตลักษณะจากภายนอกโดยเฉพาะด้านมุมบน จะเห็นตัวอาคารเป็นเส้นทอดยาวจากจุดเริ่มต้นมี 4 เส้น เเละจะมารวมกันเป็น 2 เส้น จากนั้นจะค่อยๆผสานรวมกันที่จุดปลายเป็นหนึ่งเดียว เสมือนวิถีของเเม่น้ำทั้งสี่ ปิง วัง ยม น่าน นั่นเอง
ชื่อ “พาสาน” มีที่มาจากคำว่า “ผสาน” ซึ่งต้องการสื่อความหมายของสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดหลอมรวมแม่น้ำทั้ง 4 สายจนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังเป็นการผสานความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่จนทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาได้จนสำเร็จอีกด้วย
จากริมฝั่งจะมองเห็นพาสานตั้งอยู่กลางเเม่น้ำห่างออกไปไม่ไกล ส่วนถ้าขับรถจากบริเวณย่านใจกลางเมืองไปถึงพาสาน จะมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
อีกฝั่งของเเม่น้ำที่ตรงข้ามกับพาสาน เป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์- เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ชาวปากน้ำโพเคารพบูชา
ในบริเวณโครงการพาสาน ยังประกอบไปด้ายศาลาริมน้ำอีกสองหลัง
ที่มุมด้านหนึ่งของพาสาน มีเเท่นบูชาเเละรูปปั้นเจ้าเเม่กวนอิมประดิษฐานอยู่ ตามความประสงค์ของคุณวรรณี ชัยประสิทธิ์ ผู้บริจาคที่ดินแปลงนี้
เริ่มจากด้านหลังของโครงสร้าง เป็นทางเดินที่เเยกเป็นสองทางคู่ขนานไปกับเเม่น้ำ ล้อเลียนรูปฟอร์มมาจากเเม่น้ำทั้งสองสาย (ปิง-วัง / ยม-น่าน) บนทางเดินนี้ผู้เข้าชมจะได้ซึมซับบรรยากาศ และสัมผัสกับมุมมองต่อเเม่น้ำทั้งสองสายที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีการใช้แผ่นพื้นกับผนังเป็นตัวบังคับมุมมองและสร้างจังหวะของการเดิน โดยเริ่มจากการเห็นแม่น้ำฟากใดฟากหนึ่งก่อน จากนั้นพอเดินมาถึงจุดยอดของโค้ง จะเป็นบริเวณที่มองเห็นแม่น้ำทั้งสองสีบรรจบกัน ช่วยเพิ่มมุมสัมผัสที่การมองในระดับพื้นราบไม่สามารถเห็นได้
เมื่อเดินไปที่จุดปลายสุด จะเป็นจุดที่ให้คนได้ลงไปสัมผัสกับสายน้ำที่รวมกัน เป็นบริเวณที่ทุกคนจะได้ลงไปสัมผัสกับน้ำจริงๆ
บริเวณด้านในยังมีทางเดินเพื่อเดินลงไปยังชั้นล่าง ซึ่งเป็นส่วนของพื้นที่ห้องจัดเเสดงนิทรรศการและสำนักงานอีกด้วย
ทัศนียภาพด้านนอก ก็สามารถหาเหลี่ยมมุมถ่ายภาพได้อย่างสวยงาม
เมื่อถึงเวลานั้น พาสานก็จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างของนักท่องเที่ยวทั่วไทยอย่างเเน่นอน…
http://khaonakhonsawan.com
แชร์เรื่องนี้: