29-November-24
  • Menu

ย้อนอดีต ร.ศ. ๑๒๔ ที่เมืองมัลลิกา กาญจนบุรี

Home » ย้อนอดีต ร.ศ. ๑๒๔ ที่เมืองมัลลิกา กาญจนบุรี

Loading

แหล่งท่องเที่ยวซึ่งจำลองสถานที่และบรรยากาศแบบสมัยโบราณในเมืองไทย นอกจาก เมืองโบราณ ที่จังหวัดสมุทรปราการแล้ว เมืองมัลลิกา ร.ศ. ๑๒๔ ที่กาญจนบุรีก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียง สถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะทำกำไรได้ไม่มากนัก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง ทริปไปเที่ยวกาญจนบุรีของเราที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเมืองมัลลิกาและเกิดความประทับใจ จึงอยากเอามาเผยเเพร่แบ่งปันต่อ เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริม-สนับสนุนให้ที่นี่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรมของไทยแบบนี้ไปได้อีกนานๆ

เมืองมัลลิกาตั้งอยู่ที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค ประมาณกิโลเมตรที่ 15 ของทางหลวงหมายเลข 323 เส้นทางสายกาญจนบุรี -ไทรโยค เป็นโครงการที่ริเริ่มดำเนินงานโดยนักธุรกิจชาวกาญจนบุรี โดยตั้งใจที่จะจำลองให้เป็นเมืองโบราณย้อนยุคและเเสดงถึงวิถีชีวิตของชาวสยาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในยุค ร.ศ.๑๒๔

ความเป็นมา: ในอดีตสมัยที่เรายังมีระบบทาสกันอยู่ เคยมีการประมาณกันว่าไทยมีทาสเป็นจำนวนถึงกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าเมื่อพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ต้องตกเป็นทาสอีกต่อๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการ ประกาศเลิกทาส โดยการออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส” ในปี ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ.2448) อันคุณูประการกับบรรพบุรุษของชาวสยามในยุคปัจจุบัน

เมืองมัลลิกา ร.ศ. ๑๒๔ ถือกำเนิดขั้นมาเพื่อย้อนรอยอดีตแห่งความทรงจำของสยามประเทศแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความวิจิตรบรรจง มีความสงบร่มเย็น ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งสมเด็จพระปิยมหาราช

ร.ศ. คือคำย่อของ รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

พื้นที่ของเมืองมัลลิกามีขนาดพอประมาณ ประกอบไปด้วยอาคารบ้านเรือนที่มีรูปแบบในยุคสมัยนั้น เช่น เรือนของชาวบ้าน เรือนคหบดี เรือนหมู่ เรือนเเพ ย่านการค้า ฯลฯ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวชมตามจุดต่างๆได้อย่างทั่วถึงโดยไม่ลำบาก เจ้าหน้าที่และคนที่ทำงานซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในท้องถิ่น จะเเต่งตัวเหมือนผู้คนในสมัยนั้น รวมไปถึงสไตล์การใช้ภาษาและการพูดการจาที่สื่อสารกับนักท่องเที่ยว

ราคาค่าบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่ 240 บาท เด็กและผู้สูงอายุ 120 บาท นอกจากนี้ยังมีบัตรชุดพิเศษที่รวมค่าเข้าชม ค่าเช่าชุดไทย และค่าอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ อีกหลายแบบอีกด้วย สามารถตรวจสอบโปรโมชั่นและจองออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ของเมืองมัลลิกา

นักท่องเที่ยวที่มามักจะนิยมเเต่งชุดไทยเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ เช่นผู้หญิงจะเเต่งตัวด้วยผ้าสไบ โจงกระเบน ผู้ชายเเต่งตัวด้วยเสื้อราชปะแตน โจงกระเบน โดยอาจจะเตรียมชุดมาเองหรือไปเช่าที่บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าก็ได้

ที่ทางเข้าด้านหน้า มีบริการรถลากสองล้อ ที่ในสมัยก่อนเรียกกันติดปากว่า “รถเจ๊ก” เนื่องจากคนลากส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนที่อพยพเข้ามาในสมัยนั้น ในระหว่างทางคนลากจะอธิบายให้ฟังถึงข้อมูลของสถานที่ และหยุดจอดให้ถ่ายรูป รวมถึงเป็นช่างภาพฝีมือดีช่วยถ่ายภาพหมู่ให้เราด้วย ^^

เรือนแพ: ในสมัยก่อนการสัญจรไปมาส่วนใหญ่จะใช้แม่น้ำลำคลอง เนื่องจากถนนหนทางยังไม่ได้มีการพัฒนามากนัก ร้านค้าขายจึงมักตั้งอยุ๋ตามริมน้ำด้วย

รถลากจะส่งเราที่บริเวณ สถานีรถเจ๊ก ที่อยู่บริเวณมุมซ้ายมือ ด้านในสุดเมืองมัลลิกา ที่นี่จะมี แบ้งค์สยามกัมมาจล สาขาปลายสวน เราสามารถแลกเหรียญสตางค์ (เงินรู) ซึ่งเป็นเงินตราที่ใช้กันในสมัยโบราณทั้งอยูธยาและสุโขทัย เพื่อใช้แลกซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และขนมภายในบริเวณเมืองมัลลิกาได้ด้วย โดยอัตราการแลกเงินรู คือ 1 สตางค์ = 5 บาท

Photo Credit: www.mallika123.com

ใกล้กับเเบ้งค์สยามกัมมาจล คือ โรงครัว อันประกอบด้วย โรงสีข้าว ยุ้งข้าว โรงครัวเตรียม โรงครัวปรุงฯลฯ มีการแสดงวิธีการฝัดข้าว สีข้าว ตำข้าว พร้อมทั้งการหุงข้าวเตากระทะใบบัว

ลานมะลิ: คำว่า มัลลิกา ตามพจนานุกรมไทยแปลว่ามะลิ ในประเทศไทยมีมะลิมากกว่าร้อยชนิด ที่บริเวณนี้จึงได้มีการรวบรวมมะลิพันธุ์ต่างๆมาไว้ให้ชมกัน

เรือนคหบดี เป็นเรือนคนมีฐานะ จึงมีพื้นที่กว้างขวางและใหญ่โตกว่าเรือนของชาวบ้านทั่วไปที่เรียกกันว่า เรือนเดี่ยว

เรือนหมู่: เป็นเรือนสำหรับแขกบ้านเเขกเมืองของคหบดีไทย ซึ่งอาจเป็นขุนนางผู้ทรงศักดิ์ หรือคหบดีผู้มั่งคั่งในสมัยนั้น เรือนหมู่นั้นนิยมมีคณะนาฏศิลป์เป็นของตนเอง

ในแต่ละวัน จะมีการเเสดงศิลปะรำไทยให้นักท่องเที่ยวได้ชมที่เรือนหมู่นี้ด้วย

ย่านการค้า: เป็นหมู่อาคารที่จำลองร้านค้าต่างๆในสมัยนั้น ซึ่งมีทั้งอาหารคาวหวานและขนมไทยโบราณต่างๆ ที่ปัจจุบันอาจหาทานได้ยาก นักท่องเที่ยวสามารถใช้เงินรูที่แลกมาในการจับจ่ายใช้สอยได้ที่นี่

หอชมเมือง: จำลองมาจากหอคอยคุก ซึ่งเป็นหอคอยที่ใช้สำหรับตรวจตราป้องกันมิให้นักโทษหลบหนี นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมทัศนียภาพของเมืองมัลลิกาอันสวยงามได้

สะพานหัน: ชื่อนี้ถูกใช้เรียกตามลักษณะของตัวสะพานที่สมัยก่อนนั้นจะเป็นไม้แผ่นเดียวพาดข้ามคลอง ปลายข้างหนึ่งตรึงแน่นกับที่ ส่วนอีกข้างจะไม่ตอกติด สามารถจับหันไปมาได้เพื่อให้เรือแล่นผ่านได้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่เป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนทำเป็นแบบสะพานริอัลโตที่นครเวนิซ และที่ปองเตเวกคิโอ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี คือเป็นสะพานไม้โค้งกว้าง สองฟากสะพานมีห้องแถวเล็กๆ ให้ขายของ ส่วนตรงกลางเป็นทางเดิน ซึ่งสะพานนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ชอบเสด็จประพาสเพื่อซื้อผลไม้แห้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นลูกพลับแห้ง และผลไม้แห้งต่างๆ นานาชนิด

ห้องเล่าเรื่อง: คืออาคารที่มีข้อมูล ภาพถ่าย และสิ่งของในครั้งอดีตจัดเเสดงให้ได้ศึกษาและชม

เมืองมัลลิกาอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบ แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความตั้งใจและความพยายามในการถ่ายทอดเอกลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นไทยที่มีมาเเต่ครั้งอดีต ไว้ให้อนุชนรุ่นปัจจุบันได้สัมผัสและเรียนรู้…. \O_O/