เช้าวันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางสู่เมืองหงสาวดีโดยเส้นทางหลวงย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
คุณไคน์พาเเวะร้านอาหารริมทางหลวงเพื่อให้ลองชิมอาหารเช้าแบบพม่า เรียกว่า Mohinga ลักษณะคล้ายๆ กับขนมจีนน้ำยาป่าบ้านเรา ซึ่งน้ำซุปจะมีส่วนผสมของสมุนไพร รสชาติกลมกล่อม ถือเป็นอาหารเช้าที่คนพม่านิยมกินคู่กับชานมซึ่งมีรสชาติไม่เลว
เมืองหงสาวดี หรือที่ชาวพม่าเรียกว่าเมืองบาโค (Bago) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองย่างกุ้ง เป็นเมืองของชาวมอญมาก่อน ในอดีตพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เคยเสด็จเข้ามาทำพิธีเจาะพระกรรณที่ฐานพระธาตุมุเตาขณะที่ยังอยู่ในเขตของมอญ ก่อนที่จะทำสงครามยึดครองหงสาวดีมาจากชาวมอญในปี พ.ศ. 2082 และสถาปนาเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์ตองอูของพม่า
หงสาวดีมีสัญลักษณ์เป็นรูปหงส์คู่ ตำนานของชาวมอญเล่าว่าในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงเมืองหงสาวดีที่สมัยก่อนยังคงเป็นชายหาดริมทะเล พระพุทธเจ้าทรงเห็นหงส์สองตัวว่ายน้ำเล่นกัน จึงทำนายว่าภายหลังที่นี่จะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ชาวมอญจึงถือเอาตำนานเรื่องนี้มาเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเมือง ส่วนหงส์ตัวเมียยืนเกาะหลังหงส์ตัวผู้สะท้อนให้เห็นสังคมผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมเหนือผู้ชาย
เจดีย์ไจ๊ก์ปุ่น (Kyaik Pun Pagoda) มีอายุมากกว่า 500 ปี จุดเด่นคือรูปปั้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์หันพระพักตร์ไปทุกทิศ แทนความหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ในภัทรกัลป์ คือ
- พระพุทธเจ้ากกุสันโธ ทางทิศตะวันออก
- พระพุทธเจ้าโกนาคมโน ทางทิศใต้
- พระพุทธเจ้ามหากัสสปะ ในทิศตะวันตก
- สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางทิศเหนือ
มีตำนานเล่าว่า พระราชธิดาทั้งสี่องค์ของกษัตริย์มอญที่อุทิศตนแด่พุทธศาสนา สร้างพระพุทธรูปแทนตนเองและได้สาบานไว้ว่าจะไม่ข้องแวะกับบุรุษเพศ ต่อมาน้องสาวคนสุดท้อง ได้พบรักกับชายหนุ่มและแต่งงานกัน จึงเกิดอาเพศฟ้าผ่าพระพุทธรูปที่แทนตัวของน้องสาวคนสุดท้องพังทลายลงมา จนต้องมีการสร้างขึ้นมาใหม่ โดยพระพุทธรูปองค์นี้จะมีลักษณะแตกต่างจากองค์อื่นๆ คือจะเป็นศิลปะแบบพม่า ถ้าลองสังเกต พระพุทธรูปองค์นี้พระพักตร์จะเศร้ากว่าองค์อื่น
วัดจ๊ะไคท์วายน์จอง (Kyah Khat Wain Kyaung Monastery) เป็นโรงเรียนสงฆ์ขนาดใหญ่ มีพระ-เณรจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนหลายร้อยรูป ในช่วงเวลาประมาณ 11 นาฬิกาจะมีการตั้งแถวเพื่อไปฉันเพล ใครสนใจจะใส่บาตก็สามารถทำได้
รูปปั้นของนายพลอองซาน ซึ่งเป็นที่เคารพรักของชาวพม่ามาก
เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwemawdaw Pagoda) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระธาตุมุเตา เป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานของพม่า มีความสูงถึง 114 เมตร เล่ากันว่าชื่อ มุเตา เพี้ยนมาจากภาษามอญที่แปลว่า จมูกร้อน เพราะว่าความสูงใหญ่ของเจดีย์ทำให้ต้องแหงนหน้ามองถึงจะมองเห็นยอดพระธาตุ เป็นเหตุให้แสงแดดที่แรงกล้าเผาจมูกจนแสบร้อน^^
ปัจจุบันมีการเก็บ Cultural Zone Fees หรือค่าเข้าชมโบราณสถานในหงสาวดีสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนเงิน 10,000 จ๊าด ซึ่งครอบคลุมการเข้าชมสถานที่ทุกแห่งได้ทั้งหมด
เจดีย์ชเวมอว์ดอว์ถือเป็นเจดีย์คู่เมืองหงสาวดีมาอย่างยาวนาน ตัวเจดีย์เป็นศิลปะแบบมอญ ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 2 เส้น เล่ากันว่าในสมัยของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของหงสาวดี ก่อนที่จะออกทำศึกทุกครั้ง ท่านต้องมาสักการะพระธาตุมุเตาก่อนเสมอ
พระธาตุมุเตาเกิดความเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหวหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนรุนแรงเท่าในปี พ.ศ.2473 โดยในครั้งนั้นทำให้ยอดเจดีย์หักลงมา หลังจากนั้นก็มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่ และนำส่วนที่หักมาวางไว้ติดกับองค์เจดีย์ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งตรงจุดนี้เองถือเป็นจุดอธิษฐานศักดิ์สิทธิ์ของชาวพม่า วิธีการคือให้เอามือและหน้าผากไปแตะที่พระธาตุองค์เดิมที่หักแล้วจึงอธิษฐาน
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันและนิยมไปกัน คือ พระราชวังกัมโพชธานี (Kanbawza Thardi Palace) พระราชวังของพระเจ้าบุเรงนองผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองหงสาวดี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (พระธาตุมุเตา) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2109 ซึ่งเป็นปีที่ 15 ของการครองราชย์ของพระองค์ เป็นช่วงเวลาที่พระองค์เรืองอำนาจสูงสุด พระราชวังกัมโพชธานีถูกเผาจนเหลือแต่เพียงซาก หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง ด้วยกบฏยะไข่ พร้อม ๆ กับอาณาจักรตองอูที่เคยเรืองอำนาจได้ถึงคราวล่มสลาย
ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลพม่าได้ขุดค้นพบซากของพระราชวังที่เหลือเพียงแค่ตอไม้ที่โผล่พ้นดินออกมาเท่านั้น และได้มีการสร้างพระราชวังจำลององค์ใหม่ขึ้นมา ฉาบด้วยสีทองทั้งหลัง ซากไม้ที่ใช้สร้างพระราชวังแต่ครั้งอดีตที่ยังหลงเหลืออยู่ได้ถูกจัดแสดงไว้ โดยไม้แต่ละท่อนมีตัวอักษรจารึกอยู่ว่าเป็นไม้ที่ส่งมา(เป็นบรรณาการตอนสร้าง)จากเมืองใด
ภายในพระราชวัง มีพระราชบัลลังก์ที่มีชื่อว่า “บัลลังก์ภุมรินทร์” หรือ “บัลลังก์ผึ้ง” ซึ่งสร้างขึ้นมาจากคติเรื่องจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
คุณไคน์พาไปทานอาหารที่ร้าน Hanthawaddy ใกล้ๆกับเจดีย์ชเวมอว์ดอว์ เป็นร้านอาหารที่ดัดแปลงมาจากบ้านโบราณ อาหารรสชาติอร่อย บรรยากาศดี
การได้มาดู มาเรียนรู้ถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ ทำให้เราเข้าใจในสัจธรรมและวัฎจักรของการเกิด การพัฒนา ความเจริญรุ่งเรือง และการล่มสลาย ว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนไม่มีอะไรเที่ยงแท้เเน่นอน คุณงามความดีจะเป็นสิ่งเหลืออยู่ ที่คงทนและจีรังยั่งยืน… “O_O”
แชร์เรื่องนี้: